วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พรีเซนต์อย่างยอดเยี่ยมด้วยเทคนิคเพียง 7 ข้อ


   การพรีเซนต์หรือการนำเสนอ(Presentation)จะต้องมีการเตรียมพร้อมและต้องอาศัยเวลาในการฝึกซ้อมก่อนที่จะนำเสนอจริงเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด หากมีการเตรียมพร้อมในเรื่องที่จะนำเสนอมาอย่างดีจะทำให้ผู้นำเสนอดูมีความเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือมากขึ้นจะส่งผลให้ประสบผลสำเร็จในการนำเสนอ

7 เทคนิคที่จะทำให้คุณประสบความสำเร็จในการพรีเซนต์

1. เรียบเรียงคำพูดและฝึกซ้อมหลายๆรอบ 
เมื่อรวบรวมข้อมูลในการนำเสนอแล้วควรฝึกซ้อมในเรื่องการพูดให้ฟังดูเป็นธรรมชาติ โดยเริ่มตั้งแต่การเปิดตัว การเข้าเนื้อหา การสรุป การตอบคำถามและการจบการนำเสนอ อาจจะใช้วิธีเขียนสคริปท์ขึ้นมาแล้วท่องบทพูดจนคล่องจะทำให้ความประหม่าลดน้อยลง
2. สื่อสารกับผู้ฟังเป็นระยะ
การสื่อสารกับผู้ฟังควรต้องศึกษากลุ่มผู้ฟังก่อนในเรื่องของ อายุ อาชีพ การศึกษา เพื่อให้การพูดเกิดผลลัพธ์ที่ดี ผู้นำเสนอควรมีการสื่อสารกับผู้ฟังด้วย เช่น อาจมีการให้มีการร่วมกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ การแทรกเรื่องขำขัน เพื่อไม่ให้การนำเสนอฟังดูน่าเบื่อจนเกินไป
3. แต่งกายและวางบุคลิกให้ดูน่าเชื่อถือ 
การแต่งกายและการวางบุคลิกและท่าทางที่ดีจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือ ผู้นำเสนอการแต่งตัวให้ดูดีและถูกกาละเทศะถือเป็นการให้เกียรติผู้ฟังอย่างหนึ่ง และการวางบุคลิกที่เหมาะสมเมื่อขึ้นนำเสนอคือ ไม่วอกแวก กวาดสายตาไปทั่วทุกมุมห้อง รวมถึงท่าทางที่แสดงออกแบบอวัจนภาษาด้วย
4. อย่าอ่านให้ฟัง
มีหลายคนที่เป็นผู้นำเสนออ่านสไลด์ให้แก่ผู้พูดฟัง นั่นเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความไม่มืออาชีพ ผู้ชมสามารถอ่านสไลด์ตามที่ตาเห็นได้อยู่แล้วดังนั้นผู้พูดควรแตกประเด็นจากข้อความที่ขึ้นแสดงให้เข้าใจง่ายและกระชับที่สุด
5. ควบคุมน้ำเสียงและระดับเสียง
 นำเสียงของผู้พูดสามารถแสดงถึงอารมณ์ต่างๆได้เป็นอย่างดี ผู้นำเสนอควรให้ความสำคัญกับน้ำเสียงและความสัมพันธ์กับข้อมูล เช่น ตื่นเต้นควรมีเสียงดังขึ้น หากเป็นเรื่องเศร้าควรใช้น้ำเสียงที่เบา เป็นต้น
6. เตรียมคำตอบที่ดีสำหรับคำถาม 
เมื่อถึงเวลาของการตั้งคำถาม แน่นอนว่าจะต้องมีการตั้งคำถามหลายๆคำถามจากผู้ฟัง ในเบื้องต้นผู้นำเสนอควรตั้งคำถามที่คิดว่าจะมีผู้ถามและเตรียมคำตอบเอาไว้ให้พร้อมเพื่อให้การนำเสนอสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
7. ปรับปรุงแก้ไขส่วนที่ผิดพลาด ก่อนการนำเสนอควรมีการบันทึกภาพและเสียงเอาไว้เพื่อนำมาตรวจสอบดูว่ามีสิ่งใดที่ควรปรับปรุงแก้ไข เมื่อรู้ถึงข้อผิดพลาดของตัวเองก็ควรหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวในการนำเสนอในครั้งหน้า

  การนำเสนอที่ดีจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีตามมาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า เพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ภาพลักษณ์ขององค์กร ฯลฯ ดังนั้นผู้พูดควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อคว้าโอกาสที่ดีเหล่านี้เอาไว้

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

รู้สักนิดก่อนทำธุรกิจ "ห้องเช่า"

 

   ธุรกิจห้องเช่าเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน เพราะคิดว่าจะได้เงินมาในรูปแบบ Passive Income นั่นก็เป็นเรื่องจริงในบางส่วน แต่ก็มีความจริงอีกด้านหนึ่งคือผู้ให้เช่าจะต้องปรับปรุง ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆในบ้านเช่า และแก้ปัญหาต่างๆเกี่ยวกับผู้เช่า ดังนั้นผู้ประกอบการควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องบ้านในระดับหนึ่งเพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาใช้แก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้องและตรงจุด




สิ่งที่ควรรู้ก่อนทำธุรกิจห้องเช่า


1. มีความรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ วัสดุแต่ละอย่างมีความคงทนต่างกัน การเลือกวัสดุอุปกรณ์ควรเน้นความแข็งแรงทนทานเป็นหลัก เพราะผู้เช่าส่วนใหญ่ไม่ได้คิดว่าเป็นบ้านของตัวเองจึงไม่ค่อยบำรุงรักษาเครื่องใช้ต่างๆภายในห้อง ซึ่งเบื้องต้นเราสามารถสอบถามกับร้านขายวัสดุหรือค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าวัสดุอุปกรณ์แต่ละอย่างมีการใช้งานและความแตกต่างกันอย่างไร หากจะให้ดีควรมีการบันทึกรายละเอียดวัสดุแต่ละประเภทเพื่อประโยชน์ในการซื้อในครั้งหน้า
2. สามารถปรับปรุงซ่อมแซมสิ่งต่างๆได้ เครื่องใช้ต่างๆย่อมมีการชำรุดและเสื่อมโทรมตามกาลเวลา ความรู้เรื่องการซ่อมแซมจึงเป็นสิ่งที่ควรมี ซึ่งสิ่งที่ควรทำได้ในเบื้องต้น คือ เปลี่ยนหลอดไฟ การเปลี่ยนมิเตอร์น้ำ เปลี่ยนลูกบิดประตู การทาสีห้อง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนของการเดินระบบไฟ ทางเดินน้ำก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ หากซ่อมแซมด้วยตัวเองจะประหยัดงบประมาณในการจ้างช่างซ่อมบำรุงมาซ่อมแซม และปัจจุบันการหาช่างซ่อมแซมบ้านที่จะซ่อมปัญหาเล็กน้อยนั้นค่อนข้างยากและมีการเรียกราคาที่สูงด้วย หรืออาจจะจ้างช่างซ่อมประจำบ้านเป็นรายเดือนก็ได้ ซึ่งการจ้างช่างซ่อมรายเดือนจะเหมาะกับบ้านที่มีห้องพักจำนวนมาก
3. รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ผู้ประกอบการควรรู้ว่าคนในพื้นที่นั้นมีอายุเท่าไร อาชีพใด รายได้เท่าไร ค่านิยมเป็นอย่างไร เพื่อที่จะกำหนดราคา ตกแต่งภายใน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้สัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษา ห้องเช่าควรมีเฟอร์นิเจอร์ มีอินเทอร์เน็ตเพื่ออำนวยความสะดวก หากเป็นหอพักอาจมีอุปกรณ์การเรียนขายเป็นส่วนเสริมก็ได้ อย่างไรก็ตามก่อนเข้าพักควรมีการถามถึงรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับ อาชีพ รายได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการไม่จ่ายค่าเช่าด้วย
4. ความปลอดภัยคือเรื่องสำคัญ ก่อนที่จะสร้างห้องเช่าควรพิจารณาถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย เพราะหากมีปัญหาเรื่องการโจรกรรมหรืออาชญากรรมเกิดขึ้น ลูกบ้านจะเกิดความหวาดกลัวจนต้องย้ายไปในที่สุด ดังนั้นสามารถป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้โดยการจ้างรปภ. ติดตั้งกล้องวงจรปิด ทำระบบคีย์การ์ด เป็นต้น
5. ความสะอาดทำให้น่าอยู่ ความสะอาดเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญ การทำความสะอาดอยู่เสมอจะช่วยให้บ้านเช่าหรือหอพักไม่ดูทรุดโทรมในระยะยาว หากปล่อยคราบสกปรกทิ้งไว้นานการทำความสะอาดก็จะยากขึ้น เมื่อผู้เช่ามีการย้ายออกควรรีบทำความสะอาดให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้เพราะหากมีคนมาดูห้องพักจะไม่เสียโอกาสในส่วนนี้ไป
6. ควรมีที่จอดรถ ปัจจุบันการออกรถใหม่นั้นง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก ผู้คนจึงมีสัดส่วนการใช้ยานพาหนะเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเลือกทำเลควรคำนึงถึงที่จอดรถเพื่อความสะดวกแก่ผู้เช่าด้วย
7. สร้างข้อตกลงก่อนการเช่า หมายถึงกฏหรือข้อห้ามของห้องเช่า ก่อนการตกลงเซ็นสัญญาเช่าควรให้ผู้เช่าอ่านรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนและอาจจะกำชับข้อห้าม เพื่อป้องกันปัญหาความไม่พอใจที่อาจตามในภายหลัง เช่น ห้ามเล่นการพนัน ห้ามเสียงดังรบกวนผู้อื่น ห้ามทำเลาะวิวาท ห้ามติดสติ๊กเกอร์ใดๆภายห้อง หากฝ่าฝืนอาจมีบทลงโทษ เจ้าของบ้านควรมีความเด็ดขาดเรื่องกฏระเบียบด้วย
8. ผู้ให้เช่าควรติดต่อได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเวลาใดก็ตามผู้ให้เช่าควรติดต่อได้เสมอเพราะปัญหาต่างๆอาจะเกิดขึ้นเวลาไหนก็ได้ ดังนั้นการช่วยเหลือลูกบ้านอย่างเต็มใจจะมีส่วนช่วยให้ผู้เช่าอยู่ได้นานขึ้นหรืออาจจะจ้างคนมาดูแลบ้านแทนก็ได้
9. ศึกษาเรื่องภาษีให้ดีและเสียภาษีอย่างถูกต้อง การเสียภาษีคือหน้าที่ของทุกคนที่มีรายได้ หากไม่จ่ายภาษีในกำหนดเวลาอาจจะต้องเสียภาษีย้อนหลังได้ ซึ่งจะมีค่าปรับเพิ่มขึ้นมาจะไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับ

   หากมองดูแค่ผิวเผินธุรกิจห้องพักให้เช่าอาจจะดูเหมือนไม่ยุ่งยากมากนัก แต่ในความจริงมักมีปัญหาเกิดในเวลาที่ไม่แน่นอนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆที่ต้องประสบปัญหาต่างๆเกิดขึ้นเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบธุรกิจสามารถจัดการปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร
   สำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจบ้านเช่า, ห้องเช่าหรือหอพัก ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจแก่ผู้ที่สนใจและหากใครมีห้องให้เช่าอยู่แล้วผมขอให้ประสบความสำเร็จกับธุรกิจครับ ขอบคุณครับ :)

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การตลาดคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร?



ความหมายของการตลาด
    Philip Kotler ศาสตราจารย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชียวชาญด้านการตลาด ได้ให้คำนิยามความหมายของการตลาดว่า "เป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่จะดำเนินเพื่อให้มีการตอบสนองความพอใจและความต้องการโดยอาศัยการแลกเปลี่ยน"
    ในความหมายของผู้เขียน การตลาด หมายถึง กระบวนการจัดการและบริหารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการให้สามารถตอบสนองความต้องการและทำให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจสูงสุด

บทบาทของการตลาด
     
ในอดีตที่ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยในการเลือกสินค้าหรือบริการ แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ดังนั้นการดำเนินธุรกิจภายใต้การแข่งขันที่รุนแรงที่มีการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า การตลาดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อทุกธุรกิจ โดยส่วนการตลาดจะต้องศึกษา ค้นคว้่า วิจัยเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย สภาพแวดล้อม คู่แข่งขัน กำหนดแผนและกลยุทธ์ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด การจะประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะต้องมีการควบคุม ติดตามผลและปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ

ความสำคัญและประโยชน์ของการตลาด

ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ
   1. มีสินค้าและบริการใหม่เกิดขึ้น ความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจจึงมีสินค้าและบริการที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อต้องการจะสนองความต้องการ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่มากขึ้น
   2. มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นต้องใช้บุคลากรและแรงงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 
   3. ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ละธุรกิจมีการแข่งขันกันด้านต้นทุนและคุณภาพหากมีสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและราคาถูกก็จะสามารถครองใจลูกค้า และทำให้ค่านิยมในเรื่องราคาและคุณภาพเปลี่ยนไปในระยะยาวด้วย 
   4. เศรษฐกิจดีขึ้น เป็นผลมาจากมีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น มีเงินหมุนเวียนมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย
   5. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศ ประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีความสุขจากคุณภาพชีวิตที่ดี มีเงินหมุนเวียนมาก เป็นที่ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาไปได้ดีในอนาคต
    
ความสำคัญต่อองค์กร
   1. ช่วยให้ผลกำไรเพิ่มขึ้น สืบเนื่องมาจากการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับของความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เมื่อสามารถตอบสนองความต้องการได้ ยอดขายก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
   2. ช่วยประหยัดต้นทุน เมื่อรู้ความต้องการและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายที่แน่ชัด จะสามารถใช้งบประมาณที่จำกัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ งบประมาณไม่บานปลายเนื่องจากมีเป้าหมายที่ชัดเจน
   3. กระตุ้นการสร้างนวัตกรรมใหม่ ผู้บริโภคมีความต้องการใหม่ๆอยู่เสมอ องค์กรจะต้องตอบสนองหรือสร้างสิ่งที่แตกต่างจากเดิมเพื่อตอบสนองพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีส่วนในการกำหนดการสร้างผลิตภัณฑ์ของธุรกิจต่างๆ
   3. เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต องค์กรใดสามารถใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าคู่แข่ง และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจสามารถสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้ จะสามารถสร้างความภักดีในตราสินค้าซึ่งจะส่งผลให้เป็นผู้นำตลาดในอนาคต
   4. บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้น ทุกองค์กรต่างก็มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น สร้างผลกำไรให้มากขึ้น สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ขยายธุรกิจไปยังพื้นที่อื่น ฯลฯ เมื่อใช้เครื่องมือทางการตลาดเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการดำเนินธุรกิจจะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม

ความสำคัญต่อผู้บริโภค
   1. ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากสินค้าและบริการมีหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีการแข่งขันกันด้านคุณภาพและราคากันอยู่เสมอ ทำให้ผู้บริโภคมีสิทธิพิจารณาว่าจะเลือกสินค้าหรือบริการจากที่ใด
   2. ได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่หยุดอยู่ที่เดิม มีการปรับปรุงคุณภาพตลอดเวลาเพื่อให้ได้มาซึ่งยอดขาย ผลผลิตที่ออกมาแข่งขันกันเรื่องคุณภาพทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการแข่งขันดังกล่าว
   3. มีความสุขจากการใช้สินค้าหรือบริการมากขึ้น ค่านิยมเรื่องคุณภาพที่เปลี่ยนไป ทำให้องค์กรต้องปรับปรุงคุณภาพผลิคภัณฑ์อยู่เสมอ เมื่อลูกค้าเกิดความประทับใจในคุณภาพจะทำให้ลูกค้ามีความสุขมากขึ้น

   
      
     



วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

STP คืออะไร?




   STP Model คือเครื่องมือทางการตลาดที่วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการแบ่งส่วนตลาด กำหนดกลุ่มเป้าหมาย และวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์จะนำมาใช้ในประกอบการวางแผนกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้

   ขั้นตอนของการใช้เครื่องมือ STP จะมีอยู่ 3 ส่วน คือ

   Segmentation หมายถึง การแบ่งส่วนตลาด โดยใช้หลักเกณฑ์การแบ่งเพื่อให้เห็นตลาดที่ชัดเจนก่อนที่จะกำหนดกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งสามารถใช้ปัจจัยในการแบ่งส่วนตลาดดังนี้
     - แบ่งตามหลักประชากรศาสตร์ (Demographic Segmentation) ซึ่งมีตัวแปรในการกำหนดส่วนตลาด คือ เพศ อายุ อาชีพ รายได้ การศึกษา เชื้อชาติ ศาสนา ขนาดของครอบครัว
     - แบ่งตามหลักภูมิศาสตร์ (Geographic Segmentation) เป็นการวิเคราะห์พื้นที่ของกลุ่มเป้าหมายว่าพื้นที่ในการทำการตลาดหรือขายผลิตภัณฑ์ควรเป็นที่ใด โดยมีตัวแปรในการแบ่งคือ ประเทศ ภูมิภาค จังหวัด พื้นที่ในจังหวัด เช่น ใจกลางเมือง หมู่บ้าน ชนบท
      - แบ่งตามหลักจิตวิทยา (Psychographic Segmentation) แบ่งส่วนตลาดจากกลุ่มประชากรโดยใช้หลักจิตวิทยา มีตัวแปรที่ใช้ในการแบ่ง คือ รูปแบบการดำเนินชีวิต ค่านิยม บุคลิกของผู้ใช้ ชนชั้นทางสังคม
     - แบ่งตามหลักพฤติกรรมศาสตร์ (Behavior Segmentation) ศึกษาถึงพฤติกรรมการใช้ของตลาดเป้าหมาย โดยมีตัวแปรที่ใช้ในการวัดผล คือ โอกาสของการใช้ ความถี่ในการใช้ อัตราการใช้ ประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้า ความภักดีต่อสินค้า

   Targeting หมายถึง การกำหนดตลาดเป้าหมายโดยพิจารณาว่าตลาดเป้าหมายโดยมีขั้นตอนในการเลือกตลาดเป้าหมายดังนี้
   1. ประเมินสถานการณ์ตลาด โดยพิจาณาถึงขนาดของตลาด ความยากง่ายในการเข้าตลาด จำนวนคู่แข่งในตลาด ความรุนแรงทางการแข่งขันในตลาด ผู้นำตลาดคือใคร
   2. เลือกตลาดเป้าหมาย โดยการเลือกตลาดจะต้องมีความสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ โดยวิธีเลือกตลาดจะมีดังนี้
     2.1 มุ่งตลาดเฉพาะส่วนโดยใช้ผลิตภัณฑ์เดียว โดยมีสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียวเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายเดียวเท่านั้น การดำเนินธุรกิจในตลาดเฉพาะส่วนจะใช้ต้นทุนต่ำแต่มีความเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน
     2.2 มุ่งตลาดหลายส่วนโดยใช้หลายผลิตภัณฑ์ ธุรกิจจะมีสินค้าหรือบริการหลายอย่างที่สามารถตอบสนองให้กลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม โดยแต่ละตลาดจะมีความต้องการที่ต่างกัน ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้จะต้องมีหลายกลยุทธ์เพื่อความสอดคล้องกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
     2.3 มุ่งตลาดหลายส่วนโดยใช้ผลิตภัณฑ์เดียว อาศัยจุดเด่นหรือความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวแต่กระจายผลิตภัณฑ์ไปยังหลายๆตลาด อย่างไรก็ตามกลยุทธ์ในการดำเนินการก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกลุ่มลูกค้าด้วย
     2.4 มุ่งตลาดส่วนเดียวโดยใช้ผลิตภัณฑ์หลายชนิด เจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเพียงตลาดเดียวโดยศึกษาความต้องการของตลาดนั้นและนำสินค้าหรือบริการตอบสนองความต่อความต้องการในนั้น
     2.5 มุ่งตลาดรวม เป็นการขายสินค้าหรือบริการหลายประเภทให้กับกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะเป็นประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันที่ไม่เฉพาะเจาะจงกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการจัดการและทำการตลาด

   Positioning หมายถึง การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยจะต้องมีการพิจารณาเรื่องจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ คุณภาพ ความทนทาน รูปลักษณ์ รูปแบบ ราคาของผลิตภัณฑ์ การใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ การซ่อมแซมสามารถทำได้ง่าย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันในตลาดว่าเรามีอะไรที่ดีกว่าหรือด้อยกว่า เมื่อวิเคราะห์เสร็จสิ้นเราจะสามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเราอยู่ในตำแหน่งใดในตลาด หรืออาจสร้างแผนภาพเพื่อให้เห็นตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างด้านล่าง


   แผนภาพตัวอย่างดังกล่าวเป็นแผนภาพที่แสดงให้เห็นว่าผลิตตภัณฑ์ของธุรกิจมีราคาและคุณภาพสูงกว่าคู่แข่งขัน โดยกำหนดให้แกน x เป็นระดับราคา ส่วนแกน Y เป็นแกนที่แสดงถึงคุณภาพ อย่างไรก็ตามเราสามารถนำเกณฑ์ข้ออื่นๆมาเป็นมาตรวัดของทั้งสองแกนได้ เช่น ความทนทาน การใช้งานได้หลากหลาย เป็นต้น

   ข้อสรุป : STP Model ช่วยให้ธุรกิจทราบถึงรายละเอียดของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด เมื่อทราบถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนจะช่วยประหยัดงบประมาณในด้านการตลาด ช่วยให้ยอดขายสูงขึ้นเพราะทราบถึงความต้องการที่แท้จริงจากตลาดเป้าหมาย ทราบถึงทิศทางในการวางแผนจัดการด้านต่างๆ ซึ่งประโยชน์ข้างต้นส่งผลให้ผู้ประกอบการประหยัดเวลาในการดำเนินงานและสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทำไมธุรกิจต้องมีแบรนด์?



     แบรนด์สินค้าหรือตราสินค้า (Brand) เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจำเป็นต้องมี เพื่อให้ลูกค้าสามารถจดจำสินค้าได้โดยง่าย สังเกตุกันไหมว่าร้านค้าร้านไหนมีชื่อร้านที่ชัดเจน น่าสนใจ เราสามารถบอกต่อกับคนอื่นๆได้ง่ายเพราะเราจดจำชื่อของร้านนั้นไปแล้ว อย่างไรก็ตามตราสินค้าหรือแบรด์ไม่ได้มีแค่ชื่อร้านหรือสิ่งที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ธุรกิจด้วย เช่น การบริการที่ดี ความน่าเชื่อถือ คุณภาพของสินค้าหรือบริการนั้นๆ ฯลฯซึ่งประโยชน์หลายประการของตราสินค้าจะมีดังนี้


   1. ช่วยเร่งการตัดสินใจ จะเป็นประโยชน์เมื่อลูกค้าจดจำตราสินค้าได้แล้วและเชื่อมั่นในคุณภาพ เมื่อลูกค้าต้องการซื้อหรือใช้บริการจะมีความลังเลน้อยลงและตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาในการแนะนำสินค้าหรือบริการเพราะผู้บริโภคมีข้อมูลอยู่แล้ว

   2. สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากลูกค้ารับรู้ถึงคุณภาพของตราสินค้าแล้ว เมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ของธุรกิจ ผู้บริโภคจะกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ

   3. สามารถบอกต่อได้ง่าย เมื่อธุรกิจมีแบรนด์ที่ชัดเจนและเป็นที่จดจำ การบอกต่อจึงเป็นเรื่องง่าย ซึ่งในปัจจุบันมีสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หลายอย่างที่เป็นที่นิยมและสะดวกในการสื่อสาร ดังนั้นการตั้งชื่อ รูปลักษณ์ โลโก้ จะช่วยอำนวยประโยชน์ในการบอกต่อ

  4. ยอดขายเพิ่มขึ้น เป็นผลที่เกิดจากตัดสินใจที่เร็วขึ้น และการรับรู้จากสื่อต่างๆที่ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก เมื่อมีคนรู้จักมากก็จะมีคนซื้อหรือใช้บริการมากขึ้นไปด้วยเช่นกัน

  5. แสดงความเป็นเจ้าของ สินค้าหรือบริการใหม่ๆที่เกิดขึ้น ตราสินค้าจะแสดงความเป็นเจ้าของในสินค้าหรือบริการซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อถือมากขึ้นเมื่อมีตราสินค้าที่ชัดเจน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีหลายยี่ห้อมาก แต่ส่วนใหญ่เรียกว่ามาม่าเพราะเป็นชื่อที่จดจำได้ง่ายและเป็นนวัตกรรมใหม่ในยุคก่อน ทำให้ผู้บริโภคเรียกติดปากมาจนถึงปัจจุบัน

  แม้แบรนด์สินค้าจะมีประโยชน์หลายประการแต่ก็เป็นเหมือนดาบสองคม หากมีการบริหารจัดการตราสินค้าไม่ดี ผู้บริโภคก็จะสามารถจดจำตราสินค้าของเราในทางลบ ดังนั้นประโยชน์ต่างๆข้างต้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากมีการจัดการตราสินค้าที่ไร้ประสิทธิภาพ หากตราสินค้าเป็นที่จดจำก็จะสามารถสร้างความภักดีต่อผลิตภัณฑ์ในระยะยาวได้

Marketing Mix : 4Ps คืออะไร?




   ส่วนประสมทางการตลาด (Marketing Mix) 4P's คือ กลยุทธ์ทางการตลาดที่ใช้วิเคราะห์ประกอบการจัดการและวางแผนในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด มีองค์ประกอบอยู่ 4 ประการ ดังนี้

   Product หมายถึง สินค้าหรือบริการที่ธุรกิจต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยจะต้องพิจารณาจากสิ่งต่างๆเหล่านี้จากผลิตภัณฑ์ของธุรกิจ
    - มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน
    - มีจุดเด่น (มีความแตกต่างจากคู่แข่ง)
    - รูปลักษณ์ รูปแบบน่าสนใจ
    - มีความปลอดภัย

   Price หมายถึง ราคาของสินค้าหรือบริการนั้นๆ ซึ่งราคาสินค้าจะต้องมีความสัมพันธ์กับคุณภาพผลิตภัณฑ์ กลุ่มเป้าหมาย วัตถุดิบ เงินทุนในองค์กร เพื่อใช้ตัดสินใจในการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ โดยการตั้งราคาจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้
    - ราคาและความหายากของวัตถุดิบ หรือต้นทุนการดำเนินงาน
    - อุปสงค์และอุปทานของตลาด (สินค้าบางชนิดไม่ขึ้นกับอุปสงค์และอุปทานเนื่องจากเป็นสินค้าผูกขาด)
    - ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต
    - ราคาเปรียบเทียบกับคู่แข่งขันและตลาด
    - เงื่อนไขการในการขาย เช่น การขายเชื่อ ส่วนลดการค้า

เกณฑ์การตั้งราคาจะมีหลายประเภทธุรกิจจะต้องกำหนดราคาให้สัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์
    - ตั้งราคาเพียงราคาเดียว ไม่ว่าซื้อที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ มีมาตรฐานราคาเดียวกัน
    - ตั้งราคาให้แตกต่างกัน ตามลักษณะ  รูปแบบ วัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน
    - ตั้งราคาตามน้ำหนักของสินค้า โดยคิดเป็น ขีด กรัม กิโลกรัม ปอนด์ ฯลฯ
    - ตั้งราคาเชิงจิตวิทยา คำนึงถึงทัศนคติที่บริโภคที่มีต่อสินค้า เช่น ผู้บริโภคบางส่วนเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้านำเข้า ธุรกิจควรตั้งราคาให้สูงเพื่อให้สอดคล้องกับความคิดของผู้บริโภค รวมถึงการตั้งราคาที่ลงท้ายด้วย เลข 9 เช่น 29, 39, 49 เป็นต้น
    - ตั้งราคาเป็นลำดับขั้น เมื่อผู็บริโภคซื้อน้อยชิ้นจะเป็นราคาปกติ แต่ถ้าซื้อมากราคาจะถูกกว่า

   Place หมายถึง ช่องทางการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ รวมถึงวิธีการที่จะนำสินค้าหรือบริการนั้นๆไปยังผู้บริโภคให้ทันต่อความต้องการและเกิดค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ซึ่งมีหลัเกณฑ์ที่ต้องพิจารณามีดังนี้
   - กลุ่มเป้าหมายคือใคร ควรกระจายสินค้าหรือบริการสู่ผู้บริโภคผ่านช่องทางใด
           - กระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรง
           - จัดจำหน่ายสินค้าผ่านผู้ค้าส่ง  
           - จัดจำหน่ายสินค้าผ่านผู้ค้าปลีก
           - จำหน่ายสินค้าผ่านผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก
           - สร้างช่องทางการจำหน่ายผ่านตัวแทน และตัวแทนจะกระจายสินค้าต่อไป
   - ความสอดคล้องของผลิตภัณฑ์กับช่องทางการจัดจำหน่าย
           - สินค้าหรือบริการระดับบนควรมีสถานที่จำหน่ายหรือบริการในจำนวนน้อยเพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงการเข้าถึงยาก หากมีจำนวนมากควรมีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดี
           - สินค้าอุปโภค บริโภค ควรมีความครอบคลุมในหลายพื้นที่เพราะผู้บริโภคมีอัตราการความถี่ในการใช้ค่อนข้างสูง

   Promotion หมายถึง กิจกรรมการส่งเสริมการขาย เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กระตุ้นความสนใจของผู้บริโภคให้สนใจสินค้าหรือบริการมากยิ่งขึ้น กิจกรรมการส่งเสริมการขายมีหลายรูปแบบ เช่น การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ การจัดแสดงสินค้าหรือบริการ ให้ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ ให้ส่วนลด บริการก่อนและหลังการขาย  รับประกันสินค้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีวัตถุประสงค์และมีวิธีการที่ต่างกัน ธุรกิจควรมีการวางแผนวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลลัพธ์ด้านการส่งเสริมการตลาดออกมาบรรลุเป้าหมาย



การวิเคราะห์ SWOT คืออะไร?



   การวิเคราะห์ SWOT หมายถึง การวิเคราะห์หรือประเมินสถานการณ์สภาพแวดล้อมภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก ซึ่งจะประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค


วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (Internal Environment Analysis) ประกอบด้วย

   จุดแข็ง (Strengths) หมายถึง ข้อดีหรือจุดเด่นขององค์กรหรือธุรกิจนั้นๆ เมื่อมีข้อดีอยู่แล้วควรส่งเสริมข้อดีนั้นๆต่อไป เช่น บุคลากรมีความรู้ความสามารถ ธุรกิจมีเงินทุนสูง ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น ผู้บริหารมีประสบการณ์สูง มีพันธมิตรทางธุรกิจหลายราย ฯลฯ

   จุดอ่อน (Weaknesses) หมายถึง ข้อด้อยหรือข้อเสียซึ่งเกิดจาการบริหารจัดการองค์กรหรือธุรกิจนั้นๆ ซึ่งจุดอ่อนต่างๆควรได้รับการแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต เช่น พนักงานมีอัตราการลาออกบ่อย เงินทุนไม่เพียงพอ พนักงานขาดความรู้และความสามารถ อุปกรณ์สำนักงานไม่เพียงพอ เทคโนโลยีไม่ทันสมัย รูปแบบผลิตภัณฑ์ไม่สวยสะดุดตา ฯลฯ

วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน (External Environment Analysis) ประกอบด้วย

   โอกาส (Opportunities) หมายถึง โอกาสจากสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีส่วนช่วยผลักดันหรือเอื้ออำนวยต่อธุรกิจ เช่น รัฐบาลมีการลดภาษีการส่งออกของสินค้า รสนิยมของผู้บริโภค มีการตัดถนนผ่านจุุดที่ทำการขายสินค้า ชุมชนให้การต้อนรับหรือไม่ต่อต้านธุรกิจ การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีมากขึ้น ฯลฯ

  อุปสรรค (Threats) หมายถึง สิ่งที่เกิดจากภาวะแวดล้อมภายนอกโดยมีผลเสียต่อธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ภาวะเงินฝืดเงินเฟ้อ ภัยธรรมชาติ กฎหมายไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ อุปสงค์สินค้าน้อย ฯลฯ

   สภาพแวดล้อมภายในสามารถควบคุมและปรับปรุงแก้ไขได้ แต่สภาพแวดล้อมภายนอกไม่สามารถควบคุมได้ ประโยชน์ของการวิเคราะห์ SWOT ก็เพื่อเสริมจุดแข็ง แก้ไขจุดบกพร่อง หาโอกาสหรือช่วงเวลาที่ได้เปรียบของธุรกิจ และวางแผนรับมือกับอุปสรรคที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

เลือกทำเลอย่างไรให้ขายดี?





    การขายสินค้าหรือบริการที่มีหน้าร้าน ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเลือกทำเลที่ตั้งเป็นลำดับต้นๆ เพราะการเลือกทำเลที่ตั้งทีเหมาะสมจะส่งผลให้ดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคตด้วย
   ปัจจัยที่ทำให้สินค้าหรือบริการขายดีในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันซึ่งธุรกิจควรศึกษาก่อนจัดตั้งกิจการในแต่ละพื้นที่
1.   ใจกลางชุมชน (Regional Center) ใจกลางชุมชนเป็นแหล่งที่มีคนจำนวนมากอาศัยอยู่ การเลือกทำเลใจกลางชุมชนนั้นต้องคำนึงถึงหลายๆปัจจัย  โดยสามารถพิจารณาว่า กลุ่มลูกค้าว่ามีจำนวนมากหรือน้อยในพื้นที่ มีบ้านกี่ครัวเรือนในละแวกนั้น สินค้าที่ขายสัมพันธ์กับรายได้ของลูกค้าหรือไม่ ร้านค้าสามารถมองเห็นได้ง่ายหรือไม่ ควรเลือกที่ตั้งที่ติดถนนหลักที่ผู้คนจำเป็นต้องผ่านหรือมองเห็นได้ง่าย ไม่อยู่ในซอยลึกจนเกินไป หรือบางธุรกิจอาจสามารถเคลื่อนย้ายไปตามสถานที่ต่างๆในเขตชุมชนได้เช่น รถขายน้ำเต้าหู้ ร้านขายไก่ทอดที่เป็นแบบรถเข็น เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเป็นธุรกิจเคลื่อนที่ควรศึกษาให้ดีก่อนว่าพื้นที่ที่จะขายนั้นสามารถขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
2.   ใจกลางย่านธุรกิจ (Central Business District) ใจกลางย่านธุรกิจเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมากกว่าเขตชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานในออฟฟิศ ซึ่งการเลือกทำเลที่ตั้งจะต้องพิจารณาถึงพื้นที่ที่จะใช้ด้วย เนื่องจากพื้นที่ในเขตใจกลางย่านธุรกิจมีอัตราค่าเช่าสูงและอีกข้อที่สำคัญคือควรคำนึงถึงที่จอดรถด้วยเพราะใจกลางย่านธุรกิจจะจอดรถได้ไม่สะดวกมากนัก หรือธุรกิจอาจมีการเช่าออฟฟิศสำนักงานในพื้นที่นั้นจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้ธุรกิจได้อย่างดี
3.   แหล่งรวมร้านค้า (Power Center) เป็นสถานที่ที่มีคนมาซื้อและขายสินค้าชนิดเดียวกันเซึ่งแต่ละร้านก็จะมีการจำหน่ายสินค้าหรือมีการบริการที่แตกต่างกันไม่มากนัก เช่น ร้านที่รับจัดงานแต่งงาน จะสังเกตุเห็นว่าร้านค้าจะอยู่ติดๆกันหรือใกล้กันหลายร้าน สิ่งที่สามารถดึงดูดใจลูกค้าได้ก็คือ ความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่งขัน เมื่อมีธุรกิจแบบเดียวกันในระยะใกล้เคียงกันก็จะมีการแข่งขันกันสูง ทำเลที่ค่อนข้างได้เปรียบคือ พื้นที่ด้านหน้าสุดหรือเป็นพื้นที่ที่ลูกค้าสามารถมองเห็นได้เป็นลำดับแรก จะทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่ายกว่าตำแหน่งอื่นๆ
4.   ร้านค้าหลายรูปแบบ (Multi Channel Retailer) คือแหล่งรวมของร้านค้าหลายรูปแบบในสถานที่นั้นๆ สินค้าจะมีหลากหลายให้เลือกซื้อ เช่น ห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดติดแอร์ หากพิจารณาถึงที่ตั้งที่ค่อนข้างได้เปรียบ คือ ส่วนของทางเข้า ทางออก ใกล้ทางขึ้นลงบันไดเลื่อนหรือลิฟท์ รวมถึงส่วนหัวมุมของพื้นที่ด้วย เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวง่ายต่อการจดจำและบอกต่อ

   แม้ว่าการเลือกทำเลที่ตั้งจะเป็นสิ่งสำคัญต่อธุรกิจ แต่ปัจจัยอื่นก็ไม่ควรมองข้ามเพราะการจะดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับทำเลเพียงอย่างเดียว ยังรวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้า พนักงานขายมีการแต่งตัวที่ดูดี มีความรู้ในสินค้าและบริการ มีความเต็มใจให้บริการ มีการตอบสนองที่รวดเร็ว การจัดบรรยากาศร้านให้เหมาะสมในด้าน แสง สี เสียง การจัดวางสินค้า การเลือกสินค้าที่จะจำหน่าย ฯลฯ ทุกองค์ประกอบล้วนมีประโยชน์ต่อธุรกิจขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้มากน้อยเพียงใด


ศึกษากลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย 6W 1H Model




   6W 1H Analysis Model คือ เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค ธุรกิจสามารถรู้ถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคในรูปแบบข้อมูล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะเริ่มหรือปรับปรุงธุรกิจ
   การจะขายสินค้าหรือบริการจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายเพื่อที่จะทราบว่าสินค้าหรือบริการของเราสามารถตอบสนองพวกเขาได้หรือไม่ ซึ่งหากผู้ประกอบการยังไม่ทราบถึงพฤติกรรมผู้บริโภคก็สามารถใช้หลักการ 6W 1H เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

   Who : กำหนดว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร โดยกำหนดจาก อายุ เพศ การศึกษา รายได้ อาชีพ รูปแบบการใช้ชีวิต โดยอ้างอิงจากหลักประชากรศาสตร์เป็นตัวกำหนด

   What เราต้องการขายอะไรและสิ่งนั้นสามารถตอบสนองของผู้บริโภคได้หรือไม่ โดยวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ในเรื่องของ จุดเด่นผลิตภัณฑ์ สิ่งที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ ความแตกต่างจากคู่แข่ง ผลิตภัณฑ์ตรงต่อจุดประสงค์ของผู้ใช้หรือไม่

   When : ผู้บริโภคจะซื้อเมื่อใด เป็นการวิเคราะห์ความถี่ในการซื้อมากน้อยเพียงไร โอกาสในการซื้อเป็นช่วงใด เช่น เช้า กลางวัน เย็น กลางคืน วันสำคัญต่างๆ

   Where : ผู้บริโภคจะสามารถซื้อได้จากที่ไหน เป็นการกำหนดช่องทางการจัดจำหน่ายและสถานที่ว่าลูกค้าจะซื้อผลิตภัณฑ์ได้จากที่ไหนบ้าง

   Whom : ใครมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อโดยอ้างอิงจากกลุ่มบุคคลที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ ให้ความเชื่อถือและไว้ใจ เช่น แพทย์ ดารา นักร้อง คนในครอบครัว กลุ่มเพื่อน

   Why : ทำไมผู้บริโภคจึงตัดสินใจซื้อ เหตุผลใดที่ผู้ซื้อให้ความสนใจและซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ

   How : ตัดสินใจซื้ออย่างไร เป็นการวิเคราะห์ถึงขั้นตอนการตัดสินใจซื้อของลูกค้า โดยจะแบ่งขั้นตอนได้ดังนี้
           1. การรับรู้ปัญหา เป็นการรับรู้ว่าหากไม่มีสินค้าหรือบริการดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างไรต่อชีวิต
           2. การหาข้อมูล เป็นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์จากสื่อต่างๆหรือบุคคลอ้างอิง
           3. ประเมินทางเลือก คือขั้นตอนของการตัดสินใจผลิตภัณฑ์ว่ามีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่
           4. การตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อในขณะนั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าเหตุใดผู้บริโภคจึงซื้อ
           5. ความรู้สึกหลังการซื้อ ความรู้สึกหลังการซื้ออาจจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบก็ได้ หากมีความรู้สึกดีต่อผลิตภัณฑ์จะเกิดการซื้อซ้ำ หากประทับใจจะเกิดความภักดีต่อสินค้าและบอกต่อแก่คนรู้จัก

   หลักการดังกล่าวเป็นการใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและเห็นภาพชัดเจน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยวางแผนการจัดการของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธุรกิจบริการคืออะไรและสามารถวัดคุณภาพได้อย่างไร





ธุรกิจด้านบริการ คือ ธุรกิจที่อาศัยการแลกเปลี่ยนโดยอาจเกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือไม่ก็ได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    1. ธุรกิจบริการที่ขายบริการอย่างเดียว เช่น ธุรกิจนวดสปา ร้านซักรีด ร้านตัดผม อู่ซ่อมรถ ฯลฯ
    2. ธุรกิจบริการที่ขายสินค้าควบคู่ไปด้วย เช้น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ

    ความคาดหวังของลูกค้า
    การบริการนั้นไม่สามารถวัดออกมาในเชิงปริมาณได้แต่สามารถวัดออกมาในเชิงคุณภาพได้ เมื่อลูกค้ามาใช้บริการแล้วย่อมจะต้องการความพึงพอใจในการบริการนั้นๆ ซึ่งความคาดหวังของลูกค้าจากการบริการสามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ
   1. ประสบการณ์จริงแย่กว่าความคาดหวัง เป็นความรู้สึกเมื่อลูกค้าผิดหวังจากการเข้ารับบริการ เพราะลูกค้ามีความคาดหวังว่าการบริการจะต้องดีกว่านี้ ซึ่งธุรกิจจะต้องมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อให้ธุรกิจคงอยู่ต่อไปในอนาคต
   2. ความคาดหวังที่ไม่ต่างจากประสบการณ์จริง เป็นระดับของความรู้สึกที่คิดเอาไว้ว่าเมื่อได้รับการบริการ ก็จะเป็นอย่างที่คิดไว้ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและสามารถให้บริการต่อไปได้
   3. ประสบการณ์จริงเหนือกว่าความคาดหวัง เป็นความรู้สึกที่บ่งบอกว่าลูกค้าพึงพอใจต่อการเข้ารับบริการมาก เนื่องจากลูกค้าคาดหวังว่าจะได้รับการบริการในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อเข้ารับการบริการกลับได้รับการบริการที่มีคุณภาพมากและเกิดความพึงพอใจกว่าที่คิดไว้

   
คุณภาพของการบริการสามารถวัดได้จากอะไร?
ธุรกิจการบริการจะมีองค์ประกอบที่แสดงให้เห็นว่า คุณภาพของการบริการเกิดจากสิ่งต่างๆเหล่านี้ (Berry et al 1985; Zeithaml and Bitner, 1996)

   1. สิ่งที่สัมผัสได้  (Tangibles) มีความเกียวข้องกับอาคาร คน เครื่องมือ อุปกรณ์สำนักงาน .เช่น ความสวยงามของการตกแต่ง ห้องรับแขก ลานจอดรถ คอมพิวเตอร์ ห้องน้ำ ทางเดิน การแต่งกายของพนักงาน ความเป็นระเบียบ
   2. ความเชื่อถือและไว้วางใจ (Reliability) เกิดจากการตอบสนองลูกค้าได้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่บริการนั้นๆได้แจ้งไว้ เช่น การส่งสินค้าได้ทันตามกำหนด โปร่งใสในเรื่องเงื่อนไขการให้บริการ รักษาสัญญาที่เคยบอกไว้
   3. ความรวดเร็ว (Responsiveness) สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างทันเวลา รวดเร็ว มีการตอบรับหรือตอบสนองฉับไว เช่น มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือลูกค้า รีบให้บริการเพื่อไม่ให้รอนาน
   4. การรับประกัน (Assurance) สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าเมื่อเข้ารับการบริการจะได้รับความปลอดภัย ได้มาตรฐาน ได้รับบริการตามที่ธุรกิจกล่าวเอาไว้
   5. ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า (Empathy) ความพยายามที่จะเข้าใจและช่วยเหลือลูกค้าเป็นรายบุคคล ตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคล โดยสอบถามจากลูกค้าหรือลูกค้าอาจบอกมาเองก็ได้ เช่น ลูกค้าต้องการจะเปลี่ยนโปรโมชั่นมือถือ ผู้ให้บริการควรให้คำแนะนำ พูดจาด้วยความไพเราะ เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเอาใจใส่


สร้างความประทับใจให้ลูกค้าด้วย 5 วิธีง่ายๆ




   ความประทับใจ เป็นความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นหลังการซื้อสินค้าหรือบริการและอยากกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งสิงที่จะสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้ามีหลายปัจจัย ซึ่ง "พนักงาน" คือองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า หลักการง่ายๆ 5 ประการที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าโดยพนักงานมีดังนี้
   1. ให้ความใส่ใจรายบุคคล ลูกค้าแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน พนักงานขายควรให้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคน มีความเต็มใจในการให้บริการ กระตือรือร้น ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว รวมจึงการจำรายละเอียดของลูกค้าด้วย เช่น ชื่อของลูกค้า รายการที่ลูกค้าซื้อประจำ
   2.  จำข้อมูลได้แม่นยำ เมื่อลูกค้าสอบถามรายละเอียด พนักงานขายสามารถให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าจะถามถึงรายละเอียดโปรโมชันมือถือ พนักงานสามารถบอกรายละเอียดได้ทันทีแทนที่จะหยิบโปรโมชั่นให้ลูกค้าดู จะแสดงถึงความเป็นมืออาชีพในการบริการและภาพลักษณ์ที่ดีต่อธุรกิจด้วย
   3.  ต้อนรับและขอบคุณทุกครั้ง แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่การต้อนรับในที่นี้จะเป็นการแสดงออกทางสีหน้าและคำพูด โดยการยิ้มและกล่าวสวัสดีหรือยินดีต้อนรับ หากจำรายรายละเอียดของลูกค้าได้ก็สามารถทักทายเป็นบทสนทนาเพื่อสร้างความเป็นกันเองได้ และเมื่อลูกค้าจากไปโดยอาจจะซื้อหรือไม่ก็ควรจะขอบคุณทุกครั้ง แม้ลูกค้าไม่ซื้อวันนี้แต่ยังมีโอกาสซื้อในอนาคต
   4.  การแต่งกายและบุคลิกของพนักงาน การแต่งกายให้เรียบร้อยสะอาดเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความประทับใจ และนอกเหนือจากการแต่งกายในที่มีองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น ทรงผม การแต่งหน้า กลิ่นกาย กลิ่นปาก ท่าทาง บุคลิกภาพ สิ่งต่างๆเหล่านี้แม้อาจไม่สามารถสัมผัสได้แต่สามารถรู้สึกได้
   5.  ให้เกียรติกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าทุกเพศทุกวัย ทุกอาชีพ ไม่ว่าการแต่งกายอย่างไร รวมถึงให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของลูกค้าด้วย เช่น ลูกค้าบางคนอาจจะไม่ชอบที่พนักงานคอยแนะนำสินค้ามากไป หากเขาต้องการรายละเอียดเขาจะสอบถามข้อมูลเอง ความสบา่ยใจในการจับจ่ายใช้สอยจะมีมากขึ้นหากปล่อยให้ลูกค้าเลือกเอง
   ทุกธุรกิจสามารถนำหลักการเหล่านี้อบรมให้พนักงานขายได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจการขนาดไหนก็ตาม หากนำไปปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนือง จะส่งผลให้ลูกค้าเกิดความภักดีต่อสินค้าหรือบริการของธุรกิจ

“ร้านข้าวเหนียวหมูปิ้ง” ธุรกิจรวยรายวัน

   

  ในยุคปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ต้องการความสะดวกรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้าหรือการใช้บริการ  การให้บริการที่รวดเร็วจะเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องค้นหาวิธีที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าให้ได้ และช่วงเวลาในตอนเช้าคือชั่วโมงเร่งด่วนที่ใครหลายคนไม่มีเวลามากนักในทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งร้านข้าวเหนียวหมูปิ้งจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการที่สามารถสร้างรายได้โดยอาศัยความต้องการความสะดวกรวดเร็วของคนในยุคปัจจุบัน

   กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจข้าวเหนียวหมูปิ้ง 
   จะเป็นกลุ่มคนช่วงอายุตั้งแต่ 5 – 50 ปี ซึ่งจะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงอายุที่กว้างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของการขายว่าเป็นพื้นที่ใด หากพื้นที่ขายเป็นย่านชุมชนเมืองที่มีออฟฟิศจำนวนมากหรือเป็นเขตโรงงานอุตสาหกรรม กลุ่มเป้าหมายจะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่มีอายุตั้งแต่ 22-50 ปี ชอบความสะดวกรวดเร็ว หากพื้นที่ขายเป็นโรงเรียนก็จะเป็นกลุ่มเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาทำอาหารให้ทานในตอนเช้า ช่วงอายุประมาณ 5 – 18 ปี แม้ว่าผู้ใหญ่จะเป็นคนที่ตัดสินใจซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งให้เด็กก็ตาม แต่เด็กก็มีอิทธิพลที่ทำให้ผู้ใหญ่ซื้อเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเด็กเองได้ ซึ่งช่วงเวลาขายในช่วงเช้าถือว่าเป็นช่วงที่ทำกำไรให้ธุรกิจได้มาก แต่ช่วงเย็นยังมีโอกาสในการทำกำไรได้อีก ซึ่งรายได้โดยเฉลี่ยของธุรกิจหมูปิ้งจะไม่ต่ำกว่า 500 บาทต่อวัน ผู้ประกอบการบางคนสามารถทำกำไรได้ถึง 2000 บาทต่อวันโดยการขายแค่ช่วงเช้าและเย็น

    
ข้อดีและโอกาสของการทำธุรกิจข้าวเหนียวหมูปิ้ง คือ
      
        - ใช้เงินลงทุนไม่สูง ซึ่งค่าอุปกรณ์ต่างๆจะมี เตาไฟ หมู เครื่องเทศ หน้าร้าน ไม้เสียบหมู ข้าวเหนียว ถุงพลาสติก หากเทียบกับธุรกิจอื่นที่ต้องลงทุนถือว่าต้นทุนไม่สูงมากนัก
        - วัตถุดิบต่างๆ หาได้ง่ายตามท้องตลาด เช่น ซีอิ๊ว หมู ข้าวเหนียว น้ำตาล
        - เป็นธุรกิจที่ไม่เน้นทักษะพิเศษ สามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้ง่าย
        - สามารถเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่อื่นตามที่ต้องการได้หากหน้าร้านเป็นแบบรถเข็น
        - สามารถเลือกช่วงเวลาในการขายได้ เช่น ขายช่วงเช้าอย่างเดียว หรือขายทั้งช่วงเช้าและเย็น
        - ใช้พื้นที่ในการขายน้อย หากมีการเช่าพื้นที่จะช่วยประหยัดค่าเช่าได้
        - สามารถขายสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกันได้อีก เช่น หมูฝอย หมูเค็ม หมูหวาน 
        - ผู้คนในยุคปัจจุบันต้องการความสะดวกรวดเร็ว ข้าวเหนียวหมูปิ้งสามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้

  ข้อเสียและอุปสรรคของธุรกิจ คือ

        - การเข้ามาของคู่แข่งทำได้ง่าย เนื่องจากธุรกิจใช้เงินลงทุนไม่สูงและใช้ทักษะไม่มาก
        - หากหมูปิ้งเหลือจะเป็นหมูที่ไม่สด ดังนั้นควรประมาณการขายให้ใกล้เคียงเพื่อไม่ให้หมูปิ้งเหลือจากการย่างแล้ว
        - หาพื้นในการขายยาก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ขายข้าวเหนียวหมูปิ้งจำนวนมาก
        - รสชาดอาจจะไม่คงที่ ไม่เหมือนเดิมในทุกๆวัน ธุรกิจต้องมีการกำหนดส่วนผสมที่แน่นอนและอาศัยความชำนาญ
        - ความแตกต่างกันของรสชาดมีไม่มากนักหากไม่มีสูตรเฉพาะตัว ดังนั้นสูตรเฉพาะจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อที่จะสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว
        -สินค้าทดแทนมีมาก หมายถึงอาหารในตอนเช้าอื่นๆที่สามารถกินได้นอกเหนือจากหมูปิ้ง มีหลายอย่าง เช่น โจ๊ก ข้าวเหนียวไก่ทอด แซนวิซและขนมปังปิ้ง

   ธุรกิจหมูปิ้งแม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆแต่สามารถสร้างกำไรได้อย่างมาก ซึ่งหากผู้ประกอบการท่านใดอยากมีธุรกิจเล็กๆซักอย่าง ร้านข้าวเหนียวหมูปิ้งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งบทความนี้ผมวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียไว้ให้ผู้สนใจแล้ว เมื่อทำธุรกิจแล้วควรมีการปรับปรุงข้อเสียส่งเสริมข้อดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ธุรกิจยั่งยืนไปในอนาคต สิ่งที่ควรให้ความสำคัญอีกหนึ่งข้อคือพนักงานขาย ควรยิ้มแย้มแจ่มใส มีมารยาท กล่าวขอบคุณ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิธีสร้างความประทับใจให้ลูกค้าผมกล่าวไว้ในบทความ วิธีง่ายๆมัดใจลูกค้า แล้วครับ
สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ สวัสดีครับ 

SLEPT ANALYSIS คืออะไร?





    SLEPT Model เป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อธุรกิจโดยมีความเกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ข้อกฎหมาย การเมืองและเทคโนโลยี ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ธุรกิจไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นโมเดลธุรกิจนี้จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าใจถึงสถานการณ์ในขณะนั้นและสามารถวางแผนการจัดการเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้

    S : (Social Factors) วิเคราะห์เกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี จำนวนประชากร รูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มคน ค่านิยม เสรีภาพทางสังคม การเข้าถึงสื่อต่างๆ การจับจ่ายใช้สอยของคนในสังคม การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ

    L : (Legal Factors) พิจารณาถึงข้อกฎหมายที่มีผลต่อธุรกิจ ทั้งกฎหมายที่เอื้ออำนวยและเป็นอุปสรรคของธุรกิจ อัตราภาษี  ลิขสิทธิ์ การควบคุมการนำเข้าและส่งออก

   E : (Economics Factors) สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตด้วย ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากหลายปัจจัย เช่น อัตราการว่างงาน ภาวะเงินผืดเงินเฟ้อ อัตราการแลกเปลี่ยนของเงิน ระดับราคาสินค้าและบริการ ค่าครองชีพ อัตราดอกเบี้ย

   P : (Political Factors) การเมืองของประเทศ ความมั่นคงทางการเมือง ปัญหาคอรัปชัน การชุมนุมทางการเมือง รูปแบบการปกครอง

   T : (Technological Factors) เทคโนโลยีของพื้นที่นั้นๆสามารถเอื้ออำนวยต่อธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ

   การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อธุรกิจจัดตั้งธุรกิจในพื้นที่ใหม่ ข้อมูลต่างๆควรศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนที่จะลงทุนในพื้นที่นั้นเพื่อให้เกิดความเสี่ยงธุรกิจน้อยที่สุดและสามารถดำเนินธุรกิจในระยะยาว